วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย


ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
                ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่  28  พฤศจิกายน  2550  วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  (ฆ่าผู้อื่น)  ประกอบมาตรา  80  (พยายาม)  ให้จำคุก
                ตามกฎหมายนั้น  ฝ่ายที่แพ้คดีต้องอุทธรณ์ภายใน  1  เดือน  นับแต่วันอ่านคำพิพากษา
                วันที่  20  ธันวาคม  2550คุณทนายจำเลยยื่นคำร้องอ้างว่า  เจ้าหน้าที่ศาลยังพิมพ์คำพิพากษา  (ของศาลชั้นต้น)  ไม่เสร็จ  จึงขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปมีกำหนอ  30  วัน             ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาไปจนถึงวันที่  27  มกราคม  2551
                ก่อนจะถึงวันที่ศาลกำหนด  เมื่อวันที่  21  มกราคม  2551  คุณทนายยื่นคำร้องเข้ามาอีก  ขอขยายระยะเวลาออกไปอีก  15  วัน  อ้างว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นยังมิได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาที่ตัดสินมา  เนื่องจากผู้พิพากษาลงราชการจึงยังไม่อาจคัดคำพิพากษาได้
                ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาไปจนถึงวันที่  11  กุมภาพันธ์  2551
                วันที่  13  กุมภาพันธ์  2551  หลังเลยกำหนดที่ศาลอนุญาตให้  คุณทนายความมาอีกแล้ว  มายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำอุทธรณ์ออกไปอีก  15  วัน  โดยอ้างว่าคุณทนายได้ไปสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา  ซึ่งอยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งทำให้เกิดอาการเครียด  ส่งผลให้โรคความดันโลหิตสูงกำเริบ  และด้วยความพลั้งเผลอจึงไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ในกำหนดที่ศาลกำหนดไว้
ศาลชั้นต้นสั่งว่า  มีเหตุสุดวิสัยและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม  อนุญาตให้คุณทนายยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2551     ครั้นถึงวันที่  19  กุมภาพันธ์  2551 คุณทนายจำเลยจึงยื่นอุทธรณ์เข้ามา
ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์มา  แล้วส่งให้ศาลอุทธรณ์
                ศาลอุทธรณ์เห็นว่า  ข้ออ้างในการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของคุณทนายจำเลยครั้งหลังที่ว่า  โรคความดันโลหิตสูงกำเริบ  และพลั้งเผลอยื่นอุทธรณ์ไม่ทันกำหนดนั้น  ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยสักหน่อย
                ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำสั่งาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้คุณทนาย  จนถึงวันที่  20  กุมภาพันธ์  2551  และยกอุทธรณ์ของจำเลย
นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น  คือให้จำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
หมายความว่า  ยกเลิกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้คุณทนายจำเลยและยกเลิกอุทธรณ์ของจำเลยเสียด้วยเท่ากับว่าคุณจำเลยไม่ได้อุทธรณ์นั่นเอง     คุณทนายจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  คดีนี้คุณทนายยื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มาเมื่อวันที่  13  กุมภาพันธ์ 2551  หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาขยายอุทธรณ์แล้ว  จำเลยจะยื่นคำร้องหลังครบกำหนดระยะเวลาอย่างนี้ได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยเท่านั้น
กรณีที่คุณทนายอ้างว่า  ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงกำเริบเมื่อไปหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและด้วยพลั้งเผลอยื่นอุทธรณ์ไม่ทันกำหนดนั้น  ปรากฏว่า  คุณทนายยังไปรับยาที่โรงพยาบาลได้  อาการป่วยที่กล่าวอ้างจึงไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ไม่สามารถทำคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปยื่นได้ก่อนสิ้นระยะเวลาได้  ทั้งยังรับในคำร้องนั้นว่า  เป็นความพลั้งเผลอด้วยอันเป็นความบกพร่องของคุณทนาย  ข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามบทบัญญัติกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา  พิพากษายืน    เป็นอันว่า  คุณจำเลยต้องเดินคอตกเข้าคุกไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่  445/2553)         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น