วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

จอดรถในห้างแล้วหาย ใครรับผิดชอบ


จอดรถในห้างแล้วหาย ใครรับผิดชอบ
                โจทก์ รับบัตรที่พี่  รปภ.ยื่นให้ก่อนนำรถเข้าไปจอดยังลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า
                ในบัตรเขียนหมายเลขทะเบียนรถไว้  โจทก์เก็บใส่กระเป๋าไว้อย่างดีแล้วไปเดินเลือกหาซื้อสินค้า
                ซื้อเสร็จ  เดินไปยังที่ที่จอดรถไว้  ทว่ามีแต่รถคนอื่น  รถของโจทก์หามีไม่
                วนเวียนหาก็หาพบไม่  คือ  หาไม่เจอ  แม้เรียกพี่  รปภ.มาช่วยกันแล้วก็ไม่เจอ  ไปเช็คดูที่ป้อม  รปภ.ขาออก  พบมีบัตรจอดรถที่เขียนเลขทะเบียนรถโจทก์อยู่  แสดงว่ามีคนยื่นบัตรนั้นขับรถโจทก์ออกไป
                ทั้งๆ  ที่บัตรที่รับมาเมื่อนำรถเข้ามาครั้งแรกยังอยู่ที่โจทก์
                โจทก์เรียกให้ห้างฯ  รับผิดชอบ  แต่ห้างไม่ยอม
                โจทก์จึงฟ้องห้างเป็นจำเลยที่  1  บริษัท  รปภ.เป็นจำเลยที่  2  รปภ.ที่แจกบัตรที่ทางเข้าและรับบัตรออกที่ทางออกเป็นจำเลยที่  3  และ  4  เรียกให้คืนรถที่หายไป  หรือไม่ก็ใช้เงินมา
                ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนรถยนต์คันนั้น  หรือใช้ราคาเป็นเงิน  220,000  บาท
                แม้ทางห้างฯ  และบริษัท  รปภ.จะอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืน
                ห้างฯ  และบริษัท  รปภ.ยื่นฎีกาอีก
                ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  การออกบัตรจอดรถกำกับเฉพาะหมายเลขทะเบียน  แต่ไม่ได้ระบุหมวดตัวอักษรหน้าทะเบียน  และบัตรที่ออกให้เป็นบัตรอ่อน  ระบุวัน  เดือน  ปีและเวลาที่รถเข้าจอด  จึงง่ายต่อการปลอมแปลงและนำมาใช้ซ้ำ  การที่  รปภ.ปล่อยให้คนร้ายนำรถของโจทก์ออกจากลานจอดรถโดยไม่ระมัดระวังในการตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด  จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้รถของ โจทก์ถูกลักไป  เป็นการประมาทของ  รปภ.ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของบริษัท  รปภ.อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  420  และ  425
                บริษัท  รปภ.และ  รปภ.ทั้งสองคนจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น
                สำหรับห้างฯ  แม้สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยจะระบุว่า  เฉพาะรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของห้างและลูกจ้างห้างฯ  เท่านั้น  แต่สัญญายังรวมตลอดถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรืออยู่ภายใต้การควบคุมหรือครองครองของห้างฯ  ซึ่งอยู่ในบริเวณห้างด้วย  บริษัท  รปภ.จึงเป็นตัวแทนที่รับมอบหมายจากห้างฯ  ในการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินในห้างฯ  ด้วย
                เมื่อบริษัท  รปภ.และ  รปภ.ร่วมกันทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ โจทก์ทำให้รถยนต์สูญหายไป  ห้างในฐานะตัวกลางจึงต้องร่วมรับผิดในแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนได้กระทำไปในกิจการที่ได้รับมอบหมายให้ทำแทนนั้นตามมาตรา  427  ประกอบมาตรา  425
                (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่  5800/2553)
                ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
                มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
                มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  (มาตรา  426  และ  425)  ให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วย  โดยอนุโลม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น