วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (ต่อ)


มีข้อมูลที่เปิดเผยได้แล้ว แน่นอนก็ต้องมีข้อมูลข่าวสารบางอย่างที่อาจไม่ต้องเปิดเผย   ยกตัวอย่างเช่น ความเห็นภายของเจ้าหน้าที่ในที่ยังไม่มีข้อยุติ   ในเรื่องความปลอดภัยของบุคคล  หรือในเรื่องข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล  ข้อมูลที่ไม่ได้อยู่ในการครอบครอง เป็นต้น
                ยกตัวอย่างส่วนข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เป็นข้อมูลเฉพาะตัว เช่น การศึกษา  ฐานะการเงิน  ประวัติสุขภาพ  ประวัติอาชญากรรม  ประวัติการทำงาน  ลายพิมพ์นิ้วมือ  รูปถ่าย  ชื่อ-นามสกุล  เป็นเรื่องข้อยกเว้นที่จะไม่เปิดเผยต่อคนทั่วไป แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า ถ้าเจ้าของข้อมูลอนุญาตก็สามารถเปิดเผยต่อผู้มาขอข้อมูลได้
                ตามกฎหมายบอกว่าข้อมูลส่วนตัวปกติไม่ต้องเปิดเผยเว้นแต่เจ้าของข้อมูลอนุญาต   ท่านผู้ฟังคิดว่าเจ้าของข้อมูลมีสิทธิดูข้อมูลของตัวเองหรือไม่  แน่นอนครับเจ้าของข้อมูลย่อมมีสิทธิตรวจดูข้อมูลของตนได้เผื่อว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็สามารถแจ้งขอให้แก้ไขได้
                สมมุติว่าผมขอดูข้อมูลจากโรงพยาบาลเทศบาลว่ามีคนไข้ปีนี้กี่คน แน่นอนขอดูได้ แต่ถ้าผมอยากทราบว่า คนไข้ชื่ออะไรบ้าง และอยากทราบประวัติคนไข้ โดยอ้างว่าจะเอาไปทำวิจัย  อันนี้ก็แน่นอนไม่สามารถขอได้ แต่ถ้าเป็นกรณีบริษัทประกันชีวิตซึ่งรับทำประกันทำชีวิตกับ ผู้ทำประกัน แล้วมีข้อตกลงว่า ผู้ทำประกัน ต้องไม่เป็นโรคมะเร็ง แต่ ผู้ทำประกันซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นมะเร็ง แต่โกหกบริษัทประกัน แล้วต่อมาตาย บริษัทก็สามารถไม่จ่ายค่าประกันได้เพราะว่า ผู้ทำประกันทำผิดเงื่อนไข ถ้าทายาทของผู้ทำประกันฟ้องเรียกเงินประกัน  บริษัทประกันก็สามารถขอข้อมูลจากโรงพยาบาลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพของผู้ทำประกันได้ ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่  โรงพยาบาลก็ต้องเปิดเผยข้อมูลแก่บริษัทประกัน แต่บริษัทประกันอาจต้องแนบหมายคำสั่งศาลที่ตนขอให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพของผู้ทำประกันได้ ซึ่งตามปกติโรงพยาบาลต้องไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวครับ
                เมื่อมีหลัก ก็ต้องมีข้อยกเว้น และก็ยังมี ข้อยกเว้นของข้อยกเว้นอีก ซึ่งเป็นกรณีให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้เช่น  1 เป็นกรณีเปิดเผยต่อเจ้าหน้าที่ ในหน่วยงานนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่   2 เปิดเผยต่อหน่วยงานที่ทำงานด้านสถิติ     3  การใช้เพื่อประโยชน์ศึกษาวิจัย   4 กรณีเปิดเผยต่อศาล และ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอำนาจตามกฎหมาย
(เช่นกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเทศบาลเพื่อขอข้อมูลที่อยู่ รูปถ่ายของคนร้าย เพื่อใช้ประกอบการออกหมายจับ)
                สมมุติว่า ท่านผู้ฟังขอข้อมูลข่าวสารจากเทศบาลแต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้เพราะเห็นว่าการเปิดเผยอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของผู้อื่น  เจ้าหน้าที่ก็สามารถคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลได้และมีสิทธิไม่ให้ข้อมูลได้   หรือกรณีผู้อื่นที่ทราบว่าการเปิดเผยข้อมูลอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของตนก็มีสิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลได้เช่นกัน   โดยต้องทำเป็นหนังสือแจ้งต่อเจ้าหน้าที่  
แล้วคราวนี้ท่านผู้ฟังจะทำยังไงต่อครับในเมื่อต้องการข้อมูลนั้นจริงๆ  กฎหมายบอกว่าท่านผู้ฟังก็ยังมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลได้    โดยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร
                ซึ่งการอุทธรณ์มีได้ 3 กรณี คือ 1 กรณียื่นคำขอแล้วหน่วยงานไม่เปิดเผย  2 เจ้าหน้าที่ไม่รับฟังคำคัดค้านของผู้มีส่วนได้เสียที่ได้คัดค้านกรณีตนอาจเสียประโยชน์จากการเปิดเผยข้อมูล   3 กรณีหน่วยงานของรัฐไม่แก้ไขตามคำขอของเจ้าของข้อมูลที่มีคำขอให้แก้ไขข้อมูลของตนเนื่องจากไม่ถูกต้อง
                นอกจากนี้ถ้าท่านผู้ฟังเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติฝ่าฝืน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร หรือ เห็นว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติล่าช้า  หรือไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร  ก็มีสิทธิร้องเรียนเจ้าหน้าที่ได้ครับ
                ผมมีตัวอย่างที่ทันสมัยเพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆ คือ กรณีตามข่าวที่รัฐบาลจะไปสร้างรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณโรงเรียนโยธินบูรณะ แล้วบรรดานักเรียน ผู้ปกครองก็ได้คัดค้านการสร้างรัฐสภา  ซึ่งผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเขาจะเดินทางไปให้กำลังใจที่โรงเรียน ตามกำหนดการก็คือวันนี้แต่ ว่า ผู้บริหารโรงเรียนได้ประกาศหยุดเรียน เพราะกลัวถ้าพันธมิตรเดินทางมาแล้วจะทำให้การจราจรติดขัด  แล้วพันธมิตรก็เลยตกลงกันว่าจะไม่ไปวันนี้ แต่จะไปชุมนุมหน้าโรงเรียนใหม่ในวันจันทร์นี้  ซึ่งทางผู้สื่อข่าวก็เลยโทรศัพท์ไปถาม ผ.อ. โรงเรียน แต่ ผ.อ. พอทราบว่าเป็นผู้สื่อข่าวก็วางสาย โดยไม่ยอมแม้แต่ฟังคำถามใดๆทั้งสิ้น  ที่ผู้สื่อข่าวโทรไปก็ต้องการจะทราบว่า วันจันทร์นี้ ผ.อ.จะสั่งปิดโรงเรียนอีกไหม  แล้วจะทำยังไงต่อกับเรื่องนี้
ซึ่งผมก็ขอโยงเข้าเรื่องของเราที่ว่า ข้อมูลจะเปิด ปิดโรงเรียน เป็นข้อมูลที่ ตามปกติตามหลัก ต้องเปิดเผย คือ ใครมาถามก็ต้องบอกเขาไป ไม่ว่าจะเป็น ผู้สื่อข่าว ผู้ปกครองหรือใครก็ตาม  แล้วเรามาดูว่าเข้าข้อยกเว้นที่สามารถไม่เปิดเผยได้หรือป่าว ก็มาดูว่าไม่ได้เป็นข้อมูลส่วนตัว หรือเป็นข้อมูลลับเกี่ยวกับความมั่นคง แต่กลับเป็นข้อมูลที่สำคัญ ประชาชนทั่วไปควรทราบ เพราะว่าถ้าโรงเรียนเปิดวันจันทร์ พันธมิตรเขาก็จะเดินทางไป และอาจทำให้การจราจรติดขัด ประชาชนทั่วไปก็จะได้หลีกเลี่ยงเส้นทางที่เขาจะไปชุมนุมกันครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. Grand Victoria Casino - Mapyro
    Grand Victoria 천안 출장샵 Casino 광주 출장안마 is 의왕 출장샵 the biggest gambling establishment in Australia. 경상남도 출장샵 It was established in 1886. 강릉 출장샵 With hundreds of games and a rich history,  Rating: 4.6 · ‎14 votes

    ตอบลบ