วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ใครเป็นผู้จัดการมรดก


ใครเป็นผู้จัดการมรดก  ปัญหาเกิดขึ้นบ่อยเพราะว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ตายกะทันหัน หรือไม่มีความรู้ว่าต้องควรทำพินัยกรรมทรัพย์สินทีตนมีอยู่เพื่อให้คนที่มีสิทธิรับมรดกและไม่มีสิทธิ ต้องมาแย่งกันในภายหลัง ครับ
                เรื่องมีอยู่ว่า ผู้คัดค้าน อยู่กิน กับ ภรรยา   โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน แล้วก็มีบุตรชายออกมาหนึ่งคน  โดยตามกฎหมาย บุตรชายย่อมเป็นบุตรโดยชอบของ ภรรยา ซึ่งเป็นแม่ครับ แต่จะเป็นบุตรโดยชอบของพ่อซึ่งเป็นผู้คัดค้านหรือไม่ ต้องดูว่าได้จดทะเบียนรับรองบุตรหรือไม่    ต่อมาบุตรชาย ก็ได้เมื่อเติบโตขึ้นมา  เมื่อได้เวลาสมควรจึงอยู่กินกับ  หญิง  โดยจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย  ต่อมาบุตรชายกับหญิง ก็ ได้ ช่วยกันทำมาหากิน  มีทรัพย์สินเนืองนองกองได้หลายกอง  อยู่มาวันหนึ่ง  บุตรชายได้เสียชีวิตลง 
แล้วหญิงซึ่งเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรชาย  ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก   แต่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นตา ยื่นมือสอดเข้าไปในทันที   โดยเข้าไปคัดค้านว่าไม่สมควรตั้งหญิงผุ้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกหรอก  แต่ควรตั้งตนเองมากกว่า  เพราะตนเองเป็นบิดาของชาย
                ศาลเห็นว่าผู้คัดค้านเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยา ที่เป็นมารดาของชาย   จึงมีคำสั่งตั้งหญิง ภริยาของ ชาย เป็นผู้จัดการมรดก  แล้วก็ยกคำคัดค้านไป    แต่ผู้คัดค้าน อุทธรณ์  แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
                ผู้คัดค้าน ฎีกาอีก  ว่าแม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยา แต่เมื่อออกลูกมาเป็นบุตรชาย  ผู้คัดค้านก็ได้เลี้ยงดู  รับรองว่าเป็นบุตรใครต่อใครต่างรู้ว่าเป็นลูกตนทั้งหมูบ้านทั้งอำเภอ  ตนจึงเป็นทายาทของลูกหนึ่งเดียวด้วย   จึงมีสิทธิคัดค้านขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้
                ศาลฎีกาวินิจฉัย  ที่ผู้คัดค้าน ฎีกาว่าได้อุปการะเลี้ยงดูบุตร ผู้ตาย มาแต่เด็ก รับรองและแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1627  นั้น  ผลของบทกฎหมายดังกล่าว  เพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  มีสิทธิได้รับมรดกบิดาเท่านั้น  หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยกฎหมายด้วยกลับมาเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  มีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1629  ด้วยไม่
ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย  ไม่มีสิทธิคัดค้าน  หรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้    ศาลฎีกาพิพากษายืน
สรุปว่า หากเป็น บิดาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา แม้จะมีพฤติกรรมรับรองบุตร ก็ถือเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว  มีผลคือ บุตรมีสิทธิรับมรดกของบิดา แต่ในทางกลับกันการรับรองโดยพฤติกรรม ไม่ทำให้บิดา กลายเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตร   ก็เลย ไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตร    เมื่อไม่มีสิทธิรับมรดกบุตร ก็ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกของบุตร เพราะไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของบุตรตนเองครับ
เพราะฉะนั้นก็ควรจะจดทะเบียนสมรสกับภรรยา เพื่อที่ลูกที่เกิดมาจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและตนในฐานะบิดาก็มีสิทธิรับมรดกของลูกได้ หายลูกตนเองตายก่อนครับ






ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย


ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
                ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่  28  พฤศจิกายน  2550  วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  (ฆ่าผู้อื่น)  ประกอบมาตรา  80  (พยายาม)  ให้จำคุก
                ตามกฎหมายนั้น  ฝ่ายที่แพ้คดีต้องอุทธรณ์ภายใน  1  เดือน  นับแต่วันอ่านคำพิพากษา
                วันที่  20  ธันวาคม  2550คุณทนายจำเลยยื่นคำร้องอ้างว่า  เจ้าหน้าที่ศาลยังพิมพ์คำพิพากษา  (ของศาลชั้นต้น)  ไม่เสร็จ  จึงขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปมีกำหนอ  30  วัน             ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาไปจนถึงวันที่  27  มกราคม  2551
                ก่อนจะถึงวันที่ศาลกำหนด  เมื่อวันที่  21  มกราคม  2551  คุณทนายยื่นคำร้องเข้ามาอีก  ขอขยายระยะเวลาออกไปอีก  15  วัน  อ้างว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นยังมิได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาที่ตัดสินมา  เนื่องจากผู้พิพากษาลงราชการจึงยังไม่อาจคัดคำพิพากษาได้
                ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาไปจนถึงวันที่  11  กุมภาพันธ์  2551
                วันที่  13  กุมภาพันธ์  2551  หลังเลยกำหนดที่ศาลอนุญาตให้  คุณทนายความมาอีกแล้ว  มายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำอุทธรณ์ออกไปอีก  15  วัน  โดยอ้างว่าคุณทนายได้ไปสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา  ซึ่งอยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งทำให้เกิดอาการเครียด  ส่งผลให้โรคความดันโลหิตสูงกำเริบ  และด้วยความพลั้งเผลอจึงไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ในกำหนดที่ศาลกำหนดไว้
ศาลชั้นต้นสั่งว่า  มีเหตุสุดวิสัยและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม  อนุญาตให้คุณทนายยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2551     ครั้นถึงวันที่  19  กุมภาพันธ์  2551 คุณทนายจำเลยจึงยื่นอุทธรณ์เข้ามา
ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์มา  แล้วส่งให้ศาลอุทธรณ์
                ศาลอุทธรณ์เห็นว่า  ข้ออ้างในการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของคุณทนายจำเลยครั้งหลังที่ว่า  โรคความดันโลหิตสูงกำเริบ  และพลั้งเผลอยื่นอุทธรณ์ไม่ทันกำหนดนั้น  ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยสักหน่อย
                ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำสั่งาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้คุณทนาย  จนถึงวันที่  20  กุมภาพันธ์  2551  และยกอุทธรณ์ของจำเลย
นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น  คือให้จำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
หมายความว่า  ยกเลิกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้คุณทนายจำเลยและยกเลิกอุทธรณ์ของจำเลยเสียด้วยเท่ากับว่าคุณจำเลยไม่ได้อุทธรณ์นั่นเอง     คุณทนายจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  คดีนี้คุณทนายยื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มาเมื่อวันที่  13  กุมภาพันธ์ 2551  หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาขยายอุทธรณ์แล้ว  จำเลยจะยื่นคำร้องหลังครบกำหนดระยะเวลาอย่างนี้ได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยเท่านั้น
กรณีที่คุณทนายอ้างว่า  ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงกำเริบเมื่อไปหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและด้วยพลั้งเผลอยื่นอุทธรณ์ไม่ทันกำหนดนั้น  ปรากฏว่า  คุณทนายยังไปรับยาที่โรงพยาบาลได้  อาการป่วยที่กล่าวอ้างจึงไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ไม่สามารถทำคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปยื่นได้ก่อนสิ้นระยะเวลาได้  ทั้งยังรับในคำร้องนั้นว่า  เป็นความพลั้งเผลอด้วยอันเป็นความบกพร่องของคุณทนาย  ข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามบทบัญญัติกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา  พิพากษายืน    เป็นอันว่า  คุณจำเลยต้องเดินคอตกเข้าคุกไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่  445/2553)         

จอดรถในห้างแล้วหาย ใครรับผิดชอบ


จอดรถในห้างแล้วหาย ใครรับผิดชอบ
                โจทก์ รับบัตรที่พี่  รปภ.ยื่นให้ก่อนนำรถเข้าไปจอดยังลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า
                ในบัตรเขียนหมายเลขทะเบียนรถไว้  โจทก์เก็บใส่กระเป๋าไว้อย่างดีแล้วไปเดินเลือกหาซื้อสินค้า
                ซื้อเสร็จ  เดินไปยังที่ที่จอดรถไว้  ทว่ามีแต่รถคนอื่น  รถของโจทก์หามีไม่
                วนเวียนหาก็หาพบไม่  คือ  หาไม่เจอ  แม้เรียกพี่  รปภ.มาช่วยกันแล้วก็ไม่เจอ  ไปเช็คดูที่ป้อม  รปภ.ขาออก  พบมีบัตรจอดรถที่เขียนเลขทะเบียนรถโจทก์อยู่  แสดงว่ามีคนยื่นบัตรนั้นขับรถโจทก์ออกไป
                ทั้งๆ  ที่บัตรที่รับมาเมื่อนำรถเข้ามาครั้งแรกยังอยู่ที่โจทก์
                โจทก์เรียกให้ห้างฯ  รับผิดชอบ  แต่ห้างไม่ยอม
                โจทก์จึงฟ้องห้างเป็นจำเลยที่  1  บริษัท  รปภ.เป็นจำเลยที่  2  รปภ.ที่แจกบัตรที่ทางเข้าและรับบัตรออกที่ทางออกเป็นจำเลยที่  3  และ  4  เรียกให้คืนรถที่หายไป  หรือไม่ก็ใช้เงินมา
                ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนรถยนต์คันนั้น  หรือใช้ราคาเป็นเงิน  220,000  บาท
                แม้ทางห้างฯ  และบริษัท  รปภ.จะอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืน
                ห้างฯ  และบริษัท  รปภ.ยื่นฎีกาอีก
                ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  การออกบัตรจอดรถกำกับเฉพาะหมายเลขทะเบียน  แต่ไม่ได้ระบุหมวดตัวอักษรหน้าทะเบียน  และบัตรที่ออกให้เป็นบัตรอ่อน  ระบุวัน  เดือน  ปีและเวลาที่รถเข้าจอด  จึงง่ายต่อการปลอมแปลงและนำมาใช้ซ้ำ  การที่  รปภ.ปล่อยให้คนร้ายนำรถของโจทก์ออกจากลานจอดรถโดยไม่ระมัดระวังในการตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด  จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้รถของ โจทก์ถูกลักไป  เป็นการประมาทของ  รปภ.ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของบริษัท  รปภ.อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  420  และ  425
                บริษัท  รปภ.และ  รปภ.ทั้งสองคนจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น
                สำหรับห้างฯ  แม้สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยจะระบุว่า  เฉพาะรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของห้างและลูกจ้างห้างฯ  เท่านั้น  แต่สัญญายังรวมตลอดถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรืออยู่ภายใต้การควบคุมหรือครองครองของห้างฯ  ซึ่งอยู่ในบริเวณห้างด้วย  บริษัท  รปภ.จึงเป็นตัวแทนที่รับมอบหมายจากห้างฯ  ในการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินในห้างฯ  ด้วย
                เมื่อบริษัท  รปภ.และ  รปภ.ร่วมกันทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ โจทก์ทำให้รถยนต์สูญหายไป  ห้างในฐานะตัวกลางจึงต้องร่วมรับผิดในแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนได้กระทำไปในกิจการที่ได้รับมอบหมายให้ทำแทนนั้นตามมาตรา  427  ประกอบมาตรา  425
                (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่  5800/2553)
                ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย  ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
                มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
                มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น  (มาตรา  426  และ  425)  ให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วย  โดยอนุโลม

ไม่ใช่ฉ้อโกง


ไม่ใช่ฉ้อโกง
                ด้วยความคิดที่เจ้าตัวภูมิใจนักหนาว่า-เด็ดนัก                จำเลยหยิบเอาขวดน้ำปลาออกจากกล่องกระดาษมาวางที่ชั้นวางขาย  จากนั้นเดินไปที่ร้านวางสุราต่างประเทศวนเวียนขนสุราต่างประเทศค่อยๆ  บรรจุลงกล่องน้ำปลาแทนขวดน้ำปลาที่ดึงออกไปแล้ว    เมื่อปิดกล่องด้วยสก๊อตเทปให้ดูเรียบร้อย  แล้วจึงยกกล่องน้ำปลาที่บรรจุสุราต่างประเทศนั้นลงรถเข็นก่อนจะยกกล่องน้ำปลาอีกกล่องวางทับซ้อนลงไป เขาเข็นรถเข็นบรรทุกกล่องน้ำปลา 2  กล่องที่ช่องชำระเงิน
                ที่บ้านขายอาหาร  ต้องใช้น้ำปลาเยอะครับ  แหะๆ  เขาเปรยขึ้น  ขณะที่พนักงานนำเครื่องอ่านบาร์โค้ดที่กล่องน้ำปลากล่องบนในรถเข็นเพื่อคิดราคาในราคาน้ำปลาทั้ง  2  กล่อง
                ทว่าพฤติกรรมก่อนนั้นไม่อาจรอดพ้นจากกล้องวงจรปิด  ที่ส่งภาพไปปรากฏในห้องควบคุมรักษาความปลอดภัยประจำห้างสรรพสินค้าได้  เขาถูกรวบตัวหลังเข็นของ  2  กล่องเลยช่องชำระเงินมาเล็กน้อย
                จำเลยถูกดำเนินคดีในความผิดฐานลักทรัพย์  จำเลยปฏิเสธว่า  ไม่ได้ลักทรัพย์
                แล้วต่อสู้ว่า  นี่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงต่างหาก  ไม่ใช่ความผิดฐานลักทรัพย์
                ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ให้จำคุก
                จำเลยอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
                จำเลยฎีกา  ยืนยันว่าไม่ได้ลักทรัพย์สักหน่อย  ที่ทำไปนั่นละมันเป็นการฉ้อโกงต่างหาก
                ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  พฤติการณ์ที่เอาสุราต่างประเทศใส่ไว้ในลังน้ำปลาแล้วนำสก๊อตเทปปิดลังไว้  โดยนำลังน้ำปลาอีกใบมาวางทับ  แล้วนำไปชำระเงินนั้น  ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรกแล้ว
                การที่จำเลยนำลังน้ำปลาที่มีสุราต่างประเทศซุกซ่อนอยู่ภายในไปชำระราคาเท่ากับราคาน้ำปลา  จนพนักงานนำลังน้ำปลาทั้งสองลังให้ไปเป็นเพียงกลอุบายเพื่อให้บรรลุผลคือการเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเท่านั้น  พนักงานของห้างตัวแทนของผู้เสียหายมิได้มีเจตนาส่งมอบการครอบครองสุราต่างประเทศให้            
                การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง  หาใช่ความผิดฐานฉ้อโกงตามที่จำเลยฎีกาไม่พิพากษายืนยัน                (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่  3535/2553)

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว


พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว กฎหมายที่ฟังเด็กมากขึ้น
                เป็นเรื่องที่น่ายินดี  และดีใจสำหรับเด็กและเยาวชนมากขึ้น  เมื่อมีการประกาศใช้  พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว  ให้มีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่  22  พฤษภาคม  เพราะสาระสำคัญในบทพระราชบัญญัติฯ  นี้  ได้ถูก  ปรับปรุง-แก้ไข  เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิสวัสดิภาพ และวิธีปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชน และกระบวนการพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว  หากได้อ่านรายละเอียดแล้วจะเข้าใจได้ว่าเป็น  พ.ร.บ.ที่ฟังเด็กและเยาวชน  มากขึ้นกว่าเดิม
                แบบประเมินนี้จะออกเป็นค่าประเมินปัจจัยเสี่ยง  เป็นค่าต่ำ  ค่ากลาง  ค่าสูง  เพราะฉะนั้นเมื่อเสนอไปทางศาล  ศาลจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด  เช่น  ปัญหา  การกระทำผิดครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากตัวเด็กเลย  แต่เกิดจากบิดา  มารดา  และผู้ปกครอง  เมื่อรายงานไปที่ศาลจะจัดการกับบิดา  มารดา  ผู้ปกครองได้  โดยไม่ต้องมาจัดการตัวเด็ก  แต่กฎหมายเก่าจะจัดการที่เด็กอย่างเดียว  ทำให้เด็กเครียดมากขึ้น  และมีทัศนคติไม่ดีต่อสังคม  ต่อกระบวนการยุติธรรม  ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมไทยไม่สนใจว่าเด็กเป็นสิ่งมีชีวิต  และเด็กต้องรู้จักศูนย์ฝึกก่อนด้วยว่าไม่ใช่คุกเด็ก  แต่เป็นที่ที่ให้พักพิงชั่วคราว
                และสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กและเยาวชนมาก  พบว่า  เด็กมีปัญหาใหญ่ๆ  มากที่สุด  คือ  เรื่องการสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับเด็กเหมือนคุยกันคนละภาษา  พ่อแม่ต้องการให้เด็กเป็นไปอย่างที่พ่อแม่อยากให้เป็น  โดยลืมว่าเด็กมีโลกของเขาที่อยากจะเป็นเช่นกัน
                หากปัญหาเกิดจากพ่อแม่  จะต้องแก้ปัญหาเยียวยา  จนกว่าจะเกิดความเข้าใจในครอบครัว  แต่หากแก้ไขไม่ได้  จะไม่ปล่อยให้เด็กกลับไปอยู่ให้เกิดปัญหาอีก  ซึ่งศาลจะวินิจฉัยสามารถให้ยกเลิกการเป็นพ่อแม่  ผู้ปกครองได้อีกด้วย  และ  พ.ร.บ.นี้จะได้ประโยชน์แก่เด็กในการคุ้มครองเยียวยา  จะไม่มองเรื่องโทษเป็นหลัก  แม้ว่าเด็กถูกตำรวจจับ  อัยการสั่งฟ้องเรียบร้อย  ท้ายที่สุดศาลพิจารณาว่าเด็กมีความเสี่ยงสูง  เช่น  พ่อแม่เล่นการพนัน  หรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด  เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ  ชุมชนเป็นแหล่งยาเสพติด  หรือเด็กไม่ได้ทำผิด  แต่ถูกจับเพราะอยู่ในเหตุการณ์ด้วย  ศาลจะสั่งฝึกอบรมเยียวยาเด็ก  เพื่อที่จะคุ้มครองเด็กต่อไป  และกฎหมายฉบับใหม่ระบุด้วยว่า  เด็กจะไม่มีประวัติอาชญากร  ห้ามเอาประวัติมาทำร้ายกับเด็กเด็ดขาด       นอกจากนี้  พ.ร.บ.ตัวนี้จะลดปัญหาเด็กทำผิดซ้ำได้และลดลง  แต่ไม่สามารถไปป้องกันเด็กรายใหม่ได้  ซึ่งล้วนเกิดจากปัญหาคอบครัว  การคบเพื่อนและเด็กไม่ได้เรียนหนังสือ  
                อะไรที่เปลี่ยนไปใน  พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว
                หลักที่  1  หลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราว  เดิมที่พนักงานสอบสวนจับกุมเด็กต้องพาตัวเด็กมาที่สถานพินิจฯ  หรือบ้านเมตตาภายใน  24  ชั่วโมงเลย  และผู้อำนวยการสถานพินิจฯ  จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวเลยหรือไม่ปล่อย  แต่เจตนารมณ์ของอนุสัญญาสิทธิเด็กที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามด้วยนั้นต้องให้มีการคุมตัวเด็กในระยะสั้นและจำเป็นที่สุด  เพื่อลดขั้นตอนกฎหมายฉบับนี้จึงระบุให้พนักงานสอบสวนจับกุมเด็กต้องส่งเด็กไปให้ศาลภายใน  24  ชั่วโมงแทน  ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตรวจพิจารณา
                หลักที่  2  คือ  ในกฎหมายฉบับนี้  ขอให้มีคณะกรรมการสหวิชาชีพ  4  ด้าน  คือ  ด้านการศึกษา  ด้านสาธารณสุข  ด้านสังคมสงเคราะห์  และด้านจิตวิทยา  ใน  4  ด้านนี้ต้องเป็นคนภายนอกกึ่งหนึ่งที่เป็นมืออาชีพเกี่ยวกับสหวิชาชีพ  เข้ามาดูแลเด็ก  จะทำให้สามารถดูแลเด็กได้ใกล้ชิดขึ้น  และคณะกรรมการสหวิชาชีพจะได้ค่าตอบแทนด้วย
                หลักที่  3  เรื่องการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา  คือ  ถ้าโทษจำคุกไม่เกิน  5  ปี  และเด็กไม่เคยกระทำความผิด  หรือต้องโทษจำคุกมาก่อน  รวมทั้งเด็กมีการสำนึกในการกระทำผิดก่อนฟ้อง  แล้วผู้เสียหายยินยอม  ถ้าเข้าเกณฑ์ตามนี้สามารถเสนอให้ทำแผนบำบัดแก้ไขฟื้นฟู  และเสนอให้อัยการเห็นชอบ  รวมทั้งสั่งไม่ฟ้องได้  แต่หากต้องโทษจำคุกเกินกว่า  5  ปี  แต่ไม่เกิน  20 ปี  ในกฎหมายฉบับนี้ร่างไว้ว่า  ให้สามารถไปดำเนินการจัดทำแผนบำบัดแก้ไขฟื้นฟูได้  แต่โจทย์ต้องไม่คัดค้านด้วย  ซึ่ศาลจะเป็นผู้ดุลพินิจเอง
                หลักที่  4  กฎหมายนี้จะคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กมากขึ้น  หากการสืบเสาะจากผู้อำนวยการสถานพินิจฯ  พบว่าเด็กที่กระทำผิดเกิดขึ้นเพราะการเลี้ยงดูของครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง  ศาลจะสามารถถอดความเป็นผู้ปกครองเด็กคนนั้นเลยก็ได้  แล้วมอบให้ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ  หรือผู้อื่นที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้ปกครองได้ในระยะเวลาที่ศาลสั่งเป็นผู้ดูแล
                หลักที่  5  นอกจากศาลจะสั่งให้เด็กไปฝึกอบรมในศูนย์ฝึก  และอบรมของสถานพินิจแล้ว  ยังสามารถส่งไปในที่อื่นที่กฎหมายกำหนด  และศาลเห็นสมควรได้  เช่น  วัด
                หลักที่  6  ในกรณีที่เด็กมีโทษปรับ  ให้สามารถนำโทษปรับนี้ไปทำงานบริการสังคมได้แทน
หลักที่  7  เด็กและเยาวชนที่พ้นจากการฝึกอบรมที่สถานพินิจแล้ว  ศูนย์ฝึกอบรมสามารถสงเคราะห์เด็กต่อได้อีก  1  ปี

พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (ต่อ)


มีข้อมูลที่เปิดเผยได้แล้ว แน่นอนก็ต้องมีข้อมูลข่าวสารบางอย่างที่อาจไม่ต้องเปิดเผย   ยกตัวอย่างเช่น ความเห็นภายของเจ้าหน้าที่ในที่ยังไม่มีข้อยุติ   ในเรื่องความปลอดภัยของบุคคล  หรือในเรื่องข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล  ข้อมูลที่ไม่ได้อยู่ในการครอบครอง เป็นต้น
                ยกตัวอย่างส่วนข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เป็นข้อมูลเฉพาะตัว เช่น การศึกษา  ฐานะการเงิน  ประวัติสุขภาพ  ประวัติอาชญากรรม  ประวัติการทำงาน  ลายพิมพ์นิ้วมือ  รูปถ่าย  ชื่อ-นามสกุล  เป็นเรื่องข้อยกเว้นที่จะไม่เปิดเผยต่อคนทั่วไป แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า ถ้าเจ้าของข้อมูลอนุญาตก็สามารถเปิดเผยต่อผู้มาขอข้อมูลได้
                ตามกฎหมายบอกว่าข้อมูลส่วนตัวปกติไม่ต้องเปิดเผยเว้นแต่เจ้าของข้อมูลอนุญาต   ท่านผู้ฟังคิดว่าเจ้าของข้อมูลมีสิทธิดูข้อมูลของตัวเองหรือไม่  แน่นอนครับเจ้าของข้อมูลย่อมมีสิทธิตรวจดูข้อมูลของตนได้เผื่อว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็สามารถแจ้งขอให้แก้ไขได้
                สมมุติว่าผมขอดูข้อมูลจากโรงพยาบาลเทศบาลว่ามีคนไข้ปีนี้กี่คน แน่นอนขอดูได้ แต่ถ้าผมอยากทราบว่า คนไข้ชื่ออะไรบ้าง และอยากทราบประวัติคนไข้ โดยอ้างว่าจะเอาไปทำวิจัย  อันนี้ก็แน่นอนไม่สามารถขอได้ แต่ถ้าเป็นกรณีบริษัทประกันชีวิตซึ่งรับทำประกันทำชีวิตกับ ผู้ทำประกัน แล้วมีข้อตกลงว่า ผู้ทำประกัน ต้องไม่เป็นโรคมะเร็ง แต่ ผู้ทำประกันซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นมะเร็ง แต่โกหกบริษัทประกัน แล้วต่อมาตาย บริษัทก็สามารถไม่จ่ายค่าประกันได้เพราะว่า ผู้ทำประกันทำผิดเงื่อนไข ถ้าทายาทของผู้ทำประกันฟ้องเรียกเงินประกัน  บริษัทประกันก็สามารถขอข้อมูลจากโรงพยาบาลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพของผู้ทำประกันได้ ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่  โรงพยาบาลก็ต้องเปิดเผยข้อมูลแก่บริษัทประกัน แต่บริษัทประกันอาจต้องแนบหมายคำสั่งศาลที่ตนขอให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพของผู้ทำประกันได้ ซึ่งตามปกติโรงพยาบาลต้องไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวครับ
                เมื่อมีหลัก ก็ต้องมีข้อยกเว้น และก็ยังมี ข้อยกเว้นของข้อยกเว้นอีก ซึ่งเป็นกรณีให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้เช่น  1 เป็นกรณีเปิดเผยต่อเจ้าหน้าที่ ในหน่วยงานนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่   2 เปิดเผยต่อหน่วยงานที่ทำงานด้านสถิติ     3  การใช้เพื่อประโยชน์ศึกษาวิจัย   4 กรณีเปิดเผยต่อศาล และ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอำนาจตามกฎหมาย
(เช่นกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเทศบาลเพื่อขอข้อมูลที่อยู่ รูปถ่ายของคนร้าย เพื่อใช้ประกอบการออกหมายจับ)
                สมมุติว่า ท่านผู้ฟังขอข้อมูลข่าวสารจากเทศบาลแต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้เพราะเห็นว่าการเปิดเผยอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของผู้อื่น  เจ้าหน้าที่ก็สามารถคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลได้และมีสิทธิไม่ให้ข้อมูลได้   หรือกรณีผู้อื่นที่ทราบว่าการเปิดเผยข้อมูลอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของตนก็มีสิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลได้เช่นกัน   โดยต้องทำเป็นหนังสือแจ้งต่อเจ้าหน้าที่  
แล้วคราวนี้ท่านผู้ฟังจะทำยังไงต่อครับในเมื่อต้องการข้อมูลนั้นจริงๆ  กฎหมายบอกว่าท่านผู้ฟังก็ยังมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลได้    โดยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร
                ซึ่งการอุทธรณ์มีได้ 3 กรณี คือ 1 กรณียื่นคำขอแล้วหน่วยงานไม่เปิดเผย  2 เจ้าหน้าที่ไม่รับฟังคำคัดค้านของผู้มีส่วนได้เสียที่ได้คัดค้านกรณีตนอาจเสียประโยชน์จากการเปิดเผยข้อมูล   3 กรณีหน่วยงานของรัฐไม่แก้ไขตามคำขอของเจ้าของข้อมูลที่มีคำขอให้แก้ไขข้อมูลของตนเนื่องจากไม่ถูกต้อง
                นอกจากนี้ถ้าท่านผู้ฟังเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติฝ่าฝืน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร หรือ เห็นว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติล่าช้า  หรือไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร  ก็มีสิทธิร้องเรียนเจ้าหน้าที่ได้ครับ
                ผมมีตัวอย่างที่ทันสมัยเพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆ คือ กรณีตามข่าวที่รัฐบาลจะไปสร้างรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณโรงเรียนโยธินบูรณะ แล้วบรรดานักเรียน ผู้ปกครองก็ได้คัดค้านการสร้างรัฐสภา  ซึ่งผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเขาจะเดินทางไปให้กำลังใจที่โรงเรียน ตามกำหนดการก็คือวันนี้แต่ ว่า ผู้บริหารโรงเรียนได้ประกาศหยุดเรียน เพราะกลัวถ้าพันธมิตรเดินทางมาแล้วจะทำให้การจราจรติดขัด  แล้วพันธมิตรก็เลยตกลงกันว่าจะไม่ไปวันนี้ แต่จะไปชุมนุมหน้าโรงเรียนใหม่ในวันจันทร์นี้  ซึ่งทางผู้สื่อข่าวก็เลยโทรศัพท์ไปถาม ผ.อ. โรงเรียน แต่ ผ.อ. พอทราบว่าเป็นผู้สื่อข่าวก็วางสาย โดยไม่ยอมแม้แต่ฟังคำถามใดๆทั้งสิ้น  ที่ผู้สื่อข่าวโทรไปก็ต้องการจะทราบว่า วันจันทร์นี้ ผ.อ.จะสั่งปิดโรงเรียนอีกไหม  แล้วจะทำยังไงต่อกับเรื่องนี้
ซึ่งผมก็ขอโยงเข้าเรื่องของเราที่ว่า ข้อมูลจะเปิด ปิดโรงเรียน เป็นข้อมูลที่ ตามปกติตามหลัก ต้องเปิดเผย คือ ใครมาถามก็ต้องบอกเขาไป ไม่ว่าจะเป็น ผู้สื่อข่าว ผู้ปกครองหรือใครก็ตาม  แล้วเรามาดูว่าเข้าข้อยกเว้นที่สามารถไม่เปิดเผยได้หรือป่าว ก็มาดูว่าไม่ได้เป็นข้อมูลส่วนตัว หรือเป็นข้อมูลลับเกี่ยวกับความมั่นคง แต่กลับเป็นข้อมูลที่สำคัญ ประชาชนทั่วไปควรทราบ เพราะว่าถ้าโรงเรียนเปิดวันจันทร์ พันธมิตรเขาก็จะเดินทางไป และอาจทำให้การจราจรติดขัด ประชาชนทั่วไปก็จะได้หลีกเลี่ยงเส้นทางที่เขาจะไปชุมนุมกันครับ

พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540


สำหรับวันนี้จะพูดถึงเรื่อง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ ได้กำหนดไว้ให้สิทธิแก่ประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจต่างๆ มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 แล้วนะครับ   แต่อาจมีคนจำนวนไม่มากนักที่ทราบถึงสิทธิดังกล่าว
                ก่อนอื่นอยากจะพูดถึง กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดให้ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในการครอบครองของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ  รัฐวิสาหกิจ เว้นแต่ การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ  ความปลอดภัยของประชาชน หรือเป็นข้อมูลส่วนตัวของประชาชนครับ  เห็นไหมครับ ขนาดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายตัวหลักยังได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ท่านผู้ฟังทุกท่านมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐครับ แล้วก็มี พ.ร.บ.นี้ที่มีบทบัญญัติเพิ่มเติมในรายละเอียด เช่นว่า ท่านผู้ฟังมีสิทธิอย่างไรบ้าง  เจ้าหน้าที่มีหน้าที่มีสิทธิอย่างไร  ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ข้อมูลจะทำอย่างไรได้บ้าง  ซึ่งผมจะพูดถึงอีกสักครู่
                วันนี้ผมจึงจะขออธิบายเกี่ยวกับสิทธิของท่านผู้ฟังเฉพาะในส่วนที่สำคัญตาม พ.ร.บ. นี้ครับแต่ก็จะขอพูดถึง
เจตนารมณ์ของกฎหมายซึ่งก็เพื่อ
1 กำหนดให้สิทธิแก่ประชาชนที่จะได้รับข้อมูล  2 เพื่อให้ระบบราชการโปร่งใส  ประชาชนตรวจสอบได้
3 เพื่อป้องกันการทุจริต  4 เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง สามารถคุ้มครองข้อมูลของตนเอง 
                ปกติในอดีตนานมาแล้ว หากท่านผู้ฟังต้องการจะทราบข้อมูลต่างๆจากทางเทศบาล เช่น อยากทราบว่า งบประมาณปีนี้มีเท่าไร จะใช้จ่ายในการทำอะไรบ้าง หากเดินมาขอข้อมูล เจ้าหน้าที่เทศบาลก็อาจจะปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ ไม่ให้ข้อมูลดังกล่าวได้โดยอ้างว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลตรงนี้  แต่ในปัจจุบันแม้ท่านไม่มีส่วนได้เสีย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง   อยากทราบเฉยๆ  หรือ  น้องๆนักเรียนอยากจะเอาไปทำรายงาน หรือ   มีเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ ก็มาขอดูข้อมูลได้ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของเทศบาลครับ มีบริการให้ท่านสามารตรวจดูข้อมูลได้ทันทีครับ
                ข้อมูลอะไรบ้างที่ ท่านขอดูได้
 ตามหลักของ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ ได้กำหนดว่า เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น ซึ่งหมายความว่า
หน่วยงานต่างของราชการมีหน้าที่ที่ต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆให้ประชาชนที่มาร้องขอทราบ โดยมีหลักว่าต้องเปิดเผย แต่ก็มีข้อมูลบางประเภทที่กฎหมายบอกเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องเปิดเผยครับ เช่น สิทธิของบุคคลในครอบครัว  เกียรติยศ  ชื่อเสียง หรือความเป็นส่วนตัว ย่อมได้รับการคุ้มครองไม่ต้องเปิดเผยเว้นแต่ จะได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลนั้นก่อน
                ยกตัวอย่างข้อมูลที่เปิดเผยได้เช่น เทศบัญญัติ  แผนงานโครงการต่างๆ  งบประมาณ  ประกาศประกวดหรือสอบราคาจัดซื้อจัดจ้าง  ราคากลาง   ผลการประกวดราคาหรือสอบราคาจัดซื้อจัดจ้าง  คำสั่งให้ผู้รับเหมาเป็นผู้ทิ้งงาน  การสั่งอนุญาตหรือปฏิเสธการก่อสร้างอาคาร  คำสั่งอนุมัติหรือไม่อนุมัติต่างๆ  นโยบายเทศบาลแถลงต่อสภาเป็นต้น
ซึ่งการเปิดเผยนี้หากมีข้อมูลที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยเทศบาลก็มีสิทธิ ลบ  ตัดทอน   ในส่วนที่ห้ามเปิดเผยได้
อันนี้เรียกว่าเปิดเผยบางส่วนครับ
                การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารก็มีหลายวิธีครับคือ 1 การลงพิมพ์ไว้ในราชกิจจานุเบกษา 2  การจัดไว้ให้ประชาชนได้ตรวจดู (ที่เทศบาลก็ได้มีศูนย์ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนตรวจดูได้ด้วยตนเอง) และนอกจากนี้เทศบาลเรายังมี 

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ตรวจ DNA กับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย


ตรวจ DNA พบเป็นบุตรของบิดาจริง แต่บิดาไม่จดทะเบียนรับรองบุตร ยังไม่ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
วิทยาการที่ก้าวหน้าในโลกปัจจุบันที่ถึงขั้นสามารถโคลนนิ่งสัตว์หรือมนุษย์ได้ สิ่งสำคัญหนึ่ง คือ พันธุกรรม หรือ DNA ซึ่งใช้ในการพิสูจน์บุคคล เพื่อทราบว่าเป็นบุตรของบิดามารดาหรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาข้อโต้แย้งต่างๆที่มีผลตามกฎหมาย
การตรวจพิสูจน์ DNA เพื่อทราบว่าเป็นบุตรของบิดามารดาหรือไม่ สามารถขอตรวจได้เสมอแม้ยังไม่มีการฟ้องร้องหรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนหรือชั้นศาลหากคู่กรณีคือมารดา และคนที่คาดว่าจะเป็นบิดายินยอม  แต่ต้องเสียเงินค่าตรวจเสมอ ไม่มีการตรวจฟรี ยกเว้นสามารถขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิใดโดยมูลนิธิเป็นผู้ชำระแทน โดยเมื่อมีข้อโต้แย้งว่าเป็นบุตรหรือไม่ หากคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมให้ตรวจ DNA ก็ไม่สามารถตรวจได้ ดังนั้นก่อนตรวจจะต้องทำหนังสือยินยอมก่อนทุกครั้ง และหากตรวจในหน่วยงานหนึ่งแล้ว แต่ไม่แน่ใจผลตรวจ สามารถตรวจซ้ำได้ แต่อาจต้องตรวจกับหน่วยงานอื่น โดยวิธีการจะให้แน่ใจที่สุดควรจะตรวจอย่างน้อย 2 แห่ง และทั้ง 2 ฝ่ายควรไปเจาะเลือดตรวจพร้อมกัน
สำหรับข้อกฎหมายครอบครัว ปัญหาเรื่องเด็กเป็นลูกเราหรือไม่ ให้ถือว่าลูกที่ไม่มีการสมรสเป็น 'ลูกของแม่' เสมอ แต่ 'พ่อไม่ใช่' หากพ่อต้องการเป็นพ่อตามกฎหมายต้องไปจดทะเบียนรับรองบุตร 
 ส่วนกรณีที่มีการฟ้องให้พิสูจน์เพียงว่าเป็นบุตรหรือไม่นั้นในศาล สามารถทำได้ แต่การดำเนินคดีปกติทั้งทนายความและอัยการส่วนมากจะเป็นการฟ้องให้ศาลสั่งว่าเป็นบุตรที่บิดารับรองเป็นบุตรตามกฎหมาย เมื่อศาลเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดี ก็อาจขอศาลให้เจาะเลือดพิสูจน์ DNA ว่าเป็นบุตรหรือไม่ แต่ถ้า บิดา มารดา บุตร ฝ่ายใดไม่ยินยอมให้ตรวจพิสูจน์ ศาลจะบังคับไม่ได้ บุตรต้องนำสืบในพฤติการณ์ที่ผ่านมาในอดีต ให้เข้าข้อกฎหมายว่าบิดารับรองว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ว่ากรณีใด
เช่นกรณี บิดาที่ไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงแบบไม่มีความคิดว่าต้องการหญิงนั้นเป็นภรรยา และหญิงนั้นเกิดท้องและคลอดบุตรออกมาในช่วงเวลานั้น ถ้าสงสัยก็ควรตรวจ DNA เพื่อทราบว่าเป็นบุตรตนเองหรือไม่ เพราะถ้าเป็นบุตรซึ่งเป็นสายเลือด บุตรจะได้รับการเลี้ยงดูตามฐานะของบุตร ถ้าไม่ใช่บุตรของตนเองทำให้หญิงนั้นไม่สามารถมากล่าวว่า เป็นบิดาของเด็กอีก
แต่ถ้าคราวนี้เกิดตรวจแล้ว  หากผลตรวจ DNA ชัดเจนว่าเป็นบุตรของบิดาจริง แต่บิดาไม่เคยมีพฤติการณ์รับรองว่าเป็นบุตรตามกฎหมายและไม่ยอมจดทะเบียนรับรองบุตร ก็ยังไม่ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้น  จะทำอย่างไร แต่บิดาสามารถส่งเสียเลี้ยงดูเป็นการส่วนตัวได้  และหากต้องการยกทรัพย์สินให้บุตรเมื่อตนตายก็สามารถทำได้ โดยการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ ซึ่งบุตรสามารถสละไม่รับมรดกได้เช่นกัน  สรุป ตรวจ DNA พบเป็นบุตรของบิดาจริง แต่บิดาไม่จดทะเบียนรับรองบุตร ยังไม่ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย

ป้องกัน

คราวที่แล้วพูดถึงบันดาลโทสะ คราวนี้พูดถึงป้องกันบ้างดีกว่า
มาตรา 68 ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย อันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด

พี่ทะเลาะกับน้อง โดยพี่พยายามไล่แทงน้อง ร้องซ้ำๆขณะไล่ตามไป ตายแน่ๆ
ผู้น้องนั้นวิ่งอย่างไม่คิดชีวิต  ส่วนพี่ก็ไม่ใช่ว่าจะวิ่งไล่แล้วร้องซ้ำๆ อย่างนั้น หากในมือมีดพร้าเงื้อมาด้วย  ส่วนน้องก็ต้องหนีสุดชีวิตและรอดไปได้อย่างหวุดหวิด วิ่งขึ้นบ้านของตัวเอง
แต่ว่ายังไม่ทันหายเหนื่อยจากการวิ่งหนีตะกี้ พี่ก็วิ่งมาตรงประตูบ้านอีกแล้ว
แล้วก็พูดว่าให้น้อง ไปเอาปืนมึงมามาดวลกันให้ตายกันไปข้างหนึ่ง  คือประมาณว่าวิ่งไล่ฟันด้วยอีโต้ไม่ทันเที่ยวนี้กลับบ้าน ไปเอาปืนมาแล้วขับรถกระบะย้อนกับมาอีก
ส่วนผู้น้องก็ต้องทำอะไรซักอย่างเพื่อป้องกันตัว  จึงดึงลิ้นชักหยิบปืนออกมาวางไว้พร้อมบอกกับพี่ว่า ถ้าขึ้นมาจะยิง  ก็จะยิงตอบโต้ไปเหมือนกัน  
พี่จอมโมโห  ถือวิสาสะขึ้นบนบ้านทันที  แล้วพรวดเข้าในห้อง ถึงตัวน้อง  
มีเสียงดัง ตึงและตึง โครมและคราม จากการต่อสู้อีรุงตุงนังสลับกันไปจนไม่อาจแยกได้ว่าเสียงเกิดก่อนหลัง  จากนั้นมีเสียงดัง ปัง และปัง
พี่ วิ่งลงจากบ้าน แล้วรีบวิ่งขึ้นรถที่จอดทิ้งไว้ขับออกไป ต่อมาคนข้างที่บ้านตกใจ นึกว่าน้องถูกยิงวิ่งขึ้นบ้านไปดู  แต่กลายเป็นว่าผู้ตายคือพี่ที่ขับรถออกไปเมื่อกี๊ โดยเสียชีวิตในรถ เลือดท่วม
น้องถูกจับกุมและถูกฟ้องข้อหาฆ่าคนตายศาลชั้นต้นพิพากษาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288   น้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์คือพนักงานอัยการฎีกา ศาลฎีกาในคดีนี้ วินิจฉัยว่า  ผู้ตายซึ่งเป็นพี่พกอาวุธปืนมาท้าทาย มีเจตนาจะใช้อาวุธปืนยิงทำร้านน้อง นับเป็นภัยภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัวน้อง  เมื่อขึ้นบนบ้านไปพบ น้องแล้วมีการต่อสู้กัน น้องจึงชอบที่จะใช้สิทธิป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายของพี่ได้
จากร่องรอยกระสุน น้องยิงไปสองนัด กระสุนถูกพี่นัดเดียวเมื่อ พี่ถูกยิ่งแล้ว น้องก็ไม่ได้ยิงอีก จึงเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68
พิพากษายกฟ้อง ยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

บันดาลโทสะ


บันดาลโทสะ
ไอ้หนุ่มเป็นหนุ่มวัยคะนอง  จอมเกเรของหมู่บ้าน  คว้าแขนคว้าตัวผู้เสียหาย ฉุดกระชากพยายามลากออกจากบ้านไปทันที  ด้วยสัญชาตญาณของแม่ที่ปกป้องลูก ก็พยายามจะคว้าเอาลูกสาววัยรุ่นไว้ได้  ก่อนที่ไอ้หนุ่มจะลากไปพ้น  พี่ชายน้องชายของสาวผู้เสียหายก็ช่วยกันขวางอย่างเต็มที่  ชุลมุนพัลวันกันออกจากประตูบ้าน  ออกมาถึงลานบ้าน  ฝ่ายหนึ่งพยายามจะฉุดออกไปให้ได้  อีกฝ่ายหลายคนขวางสุดกำลัง  คราวนี้ผู้เป็นพ่ออยู่ในเหตุการณ์ด้วยกระโจนมาหยิบปืนลูกซองข้างผนัง  คว้ามาถือกระชับมือมั่น และบอก ให้ปล่อยไอ้หนุ่มเห็นท่าไม่ดี  สู้แรงสามสี่คนไม่ไหว  และยิ่งไม่มีทางสู้ลูกซองยาวกระบอกนั้นได้จึงถอย  แต่ก็ตะโกนไปว่า ยังไงก็จะเอาให้ได้ ในขณะเดินไปที่รถมอเตอร์ไซด์ที่จอดไว้  สรุป เปรี้ยง  เสียงปืนลูกซองดังขึ้น  ร่างที่ปากเก่ง  ยโสอุกอาจถึงขนาดเข้ามาฉุดลูกสาวเขาต่อหน้าพ่อแม่พี่น้องกลางวันแสกๆ ล้มคว่ำลงจมกองเลือดทันที  พ่อถูกจับกุม  เขารับสารภาพว่าทำจริง  จึงถูกส่งฟ้องศาล  ข้อหาฆ่าผู้อื่น  ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาว่า  พ่อมีความผิดฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ  ให้จำคุก 10 ปี  พนักงานอัยการโจทก์อุทธรณ์ให้เพิ่มโทษ พ่ออุทธรณ์ขอลดโทษ  ศาลอุทธรณ์พิพากษา  แก้โทษลดโทษลงเหลือเพียงจำคุก 4 ปี  ทั้งสองฝ่ายฎีกา  โดยทางฝ่ายพ่อฎีกาว่าที่ยิงน่ะเป็นการป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่นจากภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68  ต้องไม่มีความผิดเลยสิ  แต่ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว  วินิจฉัยว่า  ไอ้หนุ่มหนะน่ะถอยกลับไปแล้ว  ขณะนั้นภยันตรายที่เกิดจากการกระทำของไอ้หนุ่มหมดไปแล้วกรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 68  อย่างไรก็ตาม การที่ไอ้หนุ่มบุกเข้าไปลวนลามลูกสาวเขาถึงในบ้าน  นับเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและผู้เป็นพ่อยิงคุณเงือบแทบจะทันทีทันใดหลังจากถูกข่มเหงนั้น จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าผู้เป็นพ่อกระทำฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ  ศาลพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์  ศาลลงโทษจำคุก 4 ปี  น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฆ่าผู้อื่นอยู่แล้วเพราะความผิดนี้โทษเบาะๆนั้น  จำคุกตั้งแต่ 15 ปีถึง 20 ปี
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2553)
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา  68 ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน? หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย? และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง? ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ? การกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย? ผู้นั้นไม่มีความผิด
มาตรา 72 ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุ อันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะ ลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใด ก็ได้